ตุลาการภิวัตน์

ตุลาการภิวัตน์ (อังกฤษ: judicial activism) ใช้เรียกกรณีที่อำนาจตุลาการต้องสงสัยว่าบังคับใช้กฎหมายตามความเชื่อส่วนบุคคลหรือการเมือง แทนที่จะอิงตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ พจนานุกรมกฎหมายของแบล็ค ให้คำจำกัดความไว้ว่า "แนวคิดที่ตุลาการให้ความเชื่อส่วนบุคคลเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน นอกเหนือไปจากปัจจัยอื่น ๆ มาชี้นำการตัดสินของตน" ("philosophy of judicial decision-making whereby judges allow their personal views about public policy, among other factors, to guide their decisions.")

คำจำกัดความของตุลาการภิวัตน์นั้น สามารถสืบต้นกำเนิดไปได้ถึงทอมัส เจฟเฟอร์สันซึ่งวิจารณ์ตุลาการอย่างจอห์น มาร์แชลว่ามี "พฤติกรรมแบบเผด็จการ" (despotic behaviour) ส่วนผู้ใช้คำนี้เป็นคนแรกคืออาเธอร์ เชลสซิงเจอร์ จูเนียร์ โดยใช้วิจารณ์ศาลผ่านบทความชื่อ The Supreme Court: 1947. ในวารสารฟอร์ชูนฉบับมกราคม พ.ศ. 2490 คำว่า “ตุลาการภิวัตน์” นั้น ทำให้เกิดการถกเถียงมาแต่แรก โดย เครก กรีน ได้วิจารณ์เชลสซิงเจอร์ไว้ในบทความชื่อ An Intellectual History of Judicial Activism ว่า "การนำคำตุลาการภิวัตน์มาใช้ของเชลสซิงเจอร์นั้นกำกวมอย่างน่ากังขา ไม่เพียงแต่เขาจะอธิบายสิ่งที่เรียกว่าตุลาการภิวัตน์ไม่ได้ แต่เขายังไม่ยอมบอกด้วยว่าสิ่งนี้ดีหรือเลว"

กรณีที่ถูกกล่าวว่าเป็นตุลาการภิวัตน์อันมีชื่อเสียงก็คือในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2543 เมื่อศาลสูงสหรัฐอเมริกาให้ยุติการนับคะแนนใหม่ของรัฐฟลอริดา และทำให้จอร์จ ดับเบิลยู. บุชได้รับชัยชนะเหนืออัล กอร์ไปโดยปริยาย

ส่วนในประเทศไทย ธีรยุทธ บุญมีบัญญัติศัพท์นี้หลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสในโอกาสที่พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ประธานศาลปกครองสูงสุด (อักขราทร จุฬารัตน) และประธานศาลฎีกา (ชาญชัย ลิขิตจิตถะ) นำตุลาการศาลปกครองสูงสุดและผู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรม เฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2549 เพื่อหาทางออกวิกฤตการณ์การเมืองไทย

อ้างอิง

  1. อวิรุทธ์ ชาญชัยกิตติกร (2552-09-12). "ตุลาการภิวัตน์กับวิกฤติการณ์ทางการเมือง 2549" (PDF). ดุลพาห. กรุงเทพฯ: สำนักงานศาลยุติธรรม (3 (56)). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (pdf)เมื่อ 2019-03-30. สืบค้นเมื่อ 2014-03-23.
  2. As quoted in "Takings Clause Jurisprudence: Muddled, Perhaps; Judicial Activism, No" DF O'Scannlain, Geo. JL & Pub. Pol'y, 2002
  3. Haines & Sherwood, The Role of the Supreme Court in American Government and Politics: 1789-1835, 1944, p.209
  4. Keenan Kmiec in a 2004 California Law Review article
  5. An Intellectual History of Judicial Activism เก็บถาวร 2011-07-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Craig Green, August 2008, p. 4
  6. The real case of judicial activism เก็บถาวร 2016-03-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน The Times Herald, 2 June 2009
  7. บทบาทของสถาบันศาลรัฐธรรมนูญกับตุลาการภิวัฒน์

แหล่งข้อมูลอื่น