โทรเลขซิมแมร์มันน์

โทรเลขซิมแมร์มันน์ขณะถูกส่งจากวอชิงตัน ดี.ซี. ไปยังเอกอัครราชทูตไฮน์ริช ฟอน เอคคาดท์ (เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำเม็กซิโกในขณะนั้น)
อาณาเขตของเม็กซิโกในปี พ.ศ. 2460 (สีเขียวเข้ม) อาณาเขตที่โทรเลขซิมแมร์มันน์ระบุว่าเยอรมนีจะคืนให้แก่เม็กซิโก (สีเขียวอ่อน) และอาณาเขตดั้งเดิมของเม็กซิโกก่อนปี พ.ศ. 2379 (เส้นสีแดง)

โทรเลขซิมแมร์มันน์ (อังกฤษ: Zimmermann Telegram หรือ หมายเหตุซิมแมร์มันน์ อังกฤษ: Zimmermann Note) คือข้อเสนอทางการทูตระหว่างจักรวรรดิเยอรมันและเม็กซิโกในปี พ.ศ. 2460 ที่เสนอให้เม็กซิโกเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีในกรณีที่สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมกับฝ่ายไตรภาคี ซึ่งเป็นฝ่ายที่ต่อต้านเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ข้อเสนอดังกล่าวถูกดักจับและถอดรหัสโดยหน่วยสืบราชการลับของสหราชอาณาจักร เนื้อความของข้อเสนอที่ถูกเปิดเผยในเวลาต่อมาสร้างความไม่พอใจให้แก่สาธารณชนชาวอเมริกันเป็นอย่างมาก ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน ตอบสนองด้วยการติดยุทโธปกรณ์สงครามแก่เรือพาณิชย์อเมริกันเพื่อเป็นการป้องกันเรือดำน้ำของเยอรมันหลังจากที่ถูกโจมตีบ่อยครั้ง และยังส่งผลให้สหรัฐอเมริกาประกาศสงครามต่อเยอรมนีในเดือนเมษายนของปีเดียวกัน

ในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2460 ข้อเสนอดังกล่าวถูกส่งด้วยโทรเลขในรูปแบบของรหัสลับจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจักรวรรดิเยอรมัน อาร์ทูร์ ซิมแมร์มันน์ (Arthur Zimmermann) ไปยังเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำเม็กซิโก ไฮน์ริช ฟอน เอคคาดท์ (Heinrich von Eckardt) ก่อนการกลับไปใช้ยุทโธบายการสู้รบด้วยเรือดำน้ำแบบไม่จำกัดขอบเขตอีกครั้งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ซึ่งเยอรมนีสันนิษฐานว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหม่ ใจความของโทรเลขแนะนำเอกอัครราชทูตเอคคาดท์ว่าหากท่าทีของสหรัฐอเมริกาที่จะเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งปรากฏเป็นที่ชัดแจ้งแล้ว ให้เอคคาดท์ทาบทามรัฐบาลเม็กซิโกด้วยข้อเสนอการเป็นพันธมิตรทางการทหารและรับเงินทุนสนับสนุนจากเยอรมนี อีกทั้งเยอรมนียังจะสนับสนุนให้เม็กซิโกทวงคืนรัฐเท็กซัสและดินแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือจากสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้เอคคาดท์ยังถูกแนะให้เร่งเร้าเม็กซิโกในการเป็นตัวกลางชี้ชวนญี่ปุ่นให้มาเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เม็กซิโกที่ซึ่งด้อยกว่าสหรัฐอเมริกาอย่างมาก เพิกเฉยต่อข้อเสนอดังกล่าว และได้ปฏิเสธข้อเสนออย่างเป็นทางการเมื่อสหรัฐอเมริกาประกาศสงครามต่อเยอรมนีในเดือนเมษายนของปีเดียวกัน

เนื้อความ

โทรเลขซิมแมร์มันน์ถูกดักจับและถอดรหัสโดยนักวิทยาการรหัสลับ (cryptographers) แห่งห้อง 40 (Room 40) ของสหราชอาณาจักร มีใจความดังนี้

ต้นฉบับ:

:FROM 2nd from London # 5747.

We intend to begin on the first of February unrestricted submarine warfare. We shall endeavor in spite of this to keep the United States of America neutral. In the event of this not succeeding, we make Mexico a proposal of alliance on the following basis: make war together, make peace together, generous financial support and an understanding on our part that Mexico is to reconquer the lost territory in Texas, New Mexico, and Arizona. The settlement in detail is left to you. You will inform the President of the above most secretly as soon as the outbreak of war with the United States of America is certain and add the suggestion that he should, on his own initiative, invite Japan to immediate adherence and at the same time mediate between Japan and ourselves. Please call the President's attention to the fact that the ruthless employment of our submarines now offers the prospect of compelling England in a few months to make peace.
— Signed, ZIMMERMANN

คำแปล:

:จากที่ 2 จากลอนดอน # 5747.

เราตั้งใจที่จะเริ่มการสู้รบด้วยเรือดำน้ำแบบไม่จำกัดขอบเขตในวันแรกของเดือนกุมภาพันธ์ แม้กระนั้นเอง เราก็ควรพยายามที่จะดำรงความเป็นกลางของสหรัฐอเมริกาเอาไว้ ในกรณีที่ความพยายามนี้ไม่ประสบความสำเร็จ เราจะยื่นข้อเสนอการเป็นพันธมิตรแก่เม็กซิโกบนพื้นฐานดังต่อไปนี้: ก่อสงครามร่วมกัน ก่อสันติภาพร่วมกัน เงินทุนสนับสนุนอันเอื้อเฟื้อและความเข้าใจในส่วนของเราว่าเม็กซิโกจะทวงคืนดินแดนที่สูญเสียไปในเท็กซัส นิวเม็กซิโก และแอริโซนา ส่วนข้อยุติในรายละเอียดขึ้นอยู่กับคุณ และคุณจะเป็นผู้แจ้งแก่ประธานาธิบดีแห่งเม็กซิโกอย่างลับที่สุดทันทีที่สงครามกับสหรัฐอเมริกาปะทุขึ้นอย่างชัดแจ้ง และให้แนะนำว่าท่าน (ประธานาธิบดีเม็กซิโก) ควรจะเป็นผู้ดำเนินการริเริ่มชี้ชวนให้ญี่ปุ่นมาเข้าร่วมในทันที ในเวลาเดียวกันก็ช่วยไกล่เกลี่ยระหว่างญี่ปุ่นกับพวกเรา โปรดเรียกความสนใจของท่านประธานาธิบดีด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าปัจจุบันกองเรือดำน้ำอันเหี้ยมโหดของเราเสนอโอกาสที่จะบังคับให้อังกฤษลงนามสันติภาพภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน
— ลงนาม, ซิมแมร์มัน

การตอบรับจากเม็กซิโก

โทรเลขซิมแมร์มันคือส่วนหนึ่งของความพยายามจากเยอรมนีเพื่อหยุดยั้งการลำเลียงเสบียงและยุทโธปกรณ์อื่น ๆ ของฝ่ายไตรภาคี จุดมุ่งหมายหลักของโทรเลขก็คือทำให้รัฐบาลเม็กซิโกประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเป็นการกีดกันกองกำลังของสหรัฐอเมริกาไม่ให้ไปยังสมรภูมิในยุโรปและชะลอการส่งออกยุทโธปกรณ์ลง ทั้งนี้กองบัญชาการทหารสูงสุดของเยอรมนีเชื่อว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้พวกเขาโยกกองกำลังจากแนวรบด้านตะวันออกมาต่อสู้กับอังกฤษและฝรั่งเศสในแนวรบด้านตะวันตก รวมถึงบีบเค้นสหราชอาณาจักรด้วยสงครามเรือดำน้ำแบบไม่จำกัดขอบเขต ก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะฝึกฝนและส่งกำลังพลมายังยุโรปได้มากพอ

ประธานาธิบดีเม็กซิโก เวนุสเตียโน การันซา (Venustiano Carranza) มอบหมายให้กองบัญชาการทหารเป็นผู้ประเมินความเป็นไปได้ที่เม็กซิโกจะทวงคืนดินแดนจากสหรัฐอเมริกา โดยนายพลในกองทัพสรุปแนวคิดดังกล่าวว่าเป็นไปไม่ได้และไม่พึงปรารถนาด้วยเหตุผลดังนี้

  • ในการก่อสงคราม กองทัพของสหรัฐอเมริกาแข็งแกร่งกว่ากองทัพเม็กซิโกอยู่มาก ไม่มีสภาวะการณ์ใดเลยที่เม็กซิโกจะได้รับชัยชนะหากเกิดสงครามขึ้น
  • คำมั่นสัญญาของเยอรมนีถึง "เงินทุนสนับสนุนอันเอื้อเฟื้อ" เป็นสัญญาที่ดูดีเกินจริง เนื่องจากในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2459 รัฐบาลเยอรมันได้แจ้งกับประธานาธิบดีการันซามาก่อนแล้วว่าไม่สามารถลำเลียงทองคำ ส่งไปเก็บไว้ยังธนาคารแห่งชาติเม็กซิโกซึ่งเป็นธนาคารอิสระได้ และแม้ว่าเม็กซิโกจะได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน อาวุธ และยุทโธปกรณ์สงครามอื่น ๆ แล้วก็ตาม อาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ก็ยังคงต้องถูกซื้อมาจากกลุ่มประเทศเอบีซี (ABC nations; อันประกอบด้วยอาร์เจนตินา บราซิล และชิลี) อย่างแน่นอน โดยเฉพาะจากอาร์เจนตินา ซึ่งจะทำให้ความสัมพันธ์ตึงเครียดขึ้นจากเหตุผลดังข้อต่อไปนี้
  • จะมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับชาติอื่น ๆ ได้แก่ กลุ่มประเทศเอบีซี ซึ่งได้จัดการประชุมสันติภาพน้ำตกไนแอการาขึ้นในปี พ.ศ. 2457 เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามเต็มรูปแบบระหว่างสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโกจากกรณีที่สหรัฐอเมริกาเข้ายึดครองเวราครูซ ดังนั้นหากเม็กซิโกดำเนินสงครามต่อสหรัฐอเมริกาก็เท่ากับเป็นการบ่อนทำลายความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศเอบีซีด้วย
  • และถึงแม้ว่าเม็กซิโกมีโอกาสที่จะชนะสงครามเหนือสหรัฐอเมริกาและทวงคืนดินแดนในอดีตได้สำเร็จก็ตาม เม็กซิโกจะต้องเผชิญความยากลำบากในการควบคุมประชาชนจำนวนมากในภูมิภาคดังกล่าวที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่และได้รับการสนับสนุนยุทโธปกรณ์สงครามที่ดีกว่าอยู่แล้ว

รัฐบาลของการันซาจึงถูกยอมรับในทางนิตินัยจากสหรัฐอเมริกาในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2460 อันเป็นผลโดยตรงจากกรณีโทรเลขซิมแมร์มันและเพื่อดำรงความเป็นกลางของเม็กซิโกในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเอาไว้ ซึ่งหลังจากที่สหรัฐอเมริกาเข้าแทรกแซงเวราครูซด้วยกองกำลังทหารในปี พ.ศ. 2457 แล้ว ทำให้เม็กซิโกไม่เข้าร่วมกับสหรัฐอเมริกาในยุทธการทางทหารในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ดังนั้นจึงเป็นการทำให้แน่ใจว่านี่คือข้อตกลงที่ดีที่สุด แม้ว่าความเป็นกลางของเม็กซิโกจะเปิดโอกาสให้กิจการต่าง ๆ ของเยอรมันยังคงดำเนินไปได้ตามปกติ โดยเฉพาะในกรุงเม็กซิโกซิตี

การดักจับโดยสหราชอาณาจักร

ส่วนหนึ่งของโทรเลขที่ถูกถอดรหัสโดยหน่วยสืบราชการลับของสหราชอาณาจักร คำว่า "แอริโซนา" ยังไม่ปรากฏในชุดรหัสลับของเยอรมัน เนื่องจากรัฐแอริโซนาเพิ่งถูกผนวกเข้ากับสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2455 ดังนั้นคำว่าแอริโซนาจึงถูกแปลงเป็นพยางค์สำหรับการออกเสียงแทน

โทรเลขดังกล่าวถูกส่งไปยังสถานเอกอัครราชทูตเยอรมันในสหรัฐอเมริกาสำหรับการทวนสัญญาณและส่งซ้ำอีกรอบไปยังฟอน เอคคาดท์ ในเม็กซิโก เดิมทีมีกากล่าวอ้างว่าโทรเลขถูกส่งโดยผ่านสามเส้นทางได้แก่ การส่งผ่านสัญญาณวิทยุ การส่งผ่านสายโทรเลขทรานส์แอตแลนติกซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลฝ่ายที่เป็นกลางในสงคราม (สหรัฐอเมริกาและสวีเดน) โดยมีไว้เพื่อการใช้งานด้านการทูตของตน แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมีการเปิดเผยข้อเท็จจริงแล้ว พบว่าโทรเลขถูกส่งผ่านเพียงเส้นเดียวคือผ่านสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาในกรุงเบอร์ลิน ก่อนจะส่งผ่านสายโทรเลขทางการทูตไปยังกรุงโคเปนฮาเกน จากนั้นจึงจะถูกส่งไปยังกรุงลอนดอนและต่อไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ผ่านสายโทรเลขทรานส์แอตแลนติก ข้อมูลเป็นของการส่งผ่านสามเส้นทางนี้ถูกเผยแพร่โดยเรจินัลด์ บลิงเคอร์ ฮอลล์ หัวหน้าหน่วยสืบราชการลับห้อง 40 เพื่อเป็นการปิดบังข้อเท็จจริงที่ว่าหน่วยงานของเขากำลังดักจับสัญญาณบนสายโทรเลขของสหรัฐอเมริกาอยู่

การส่งสัญญาณโดยตรงจากกรุงเบอร์ลินไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในขณะนั้นไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากฝ่ายสหราชอาณาจักรได้ทำการตัดสายโทรเลขของเยอรมันในมหาสมุทรแอตแลนติก อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาอนุญาตการให้เยอรมนีใช้งานสายโทรเลขทางการทูตของตนอย่างจำกัดไว้สำหรับการติดต่อสื่อสารกับสถานทูตของเยอรมนีในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

สายโทรเลขของสวีเดนวิ่งจากสวีเดน ส่วนสายโทรเลขของสหรัฐอเมริกาวิ่งจากสถานทูตในเดนมาร์ก อย่างไรก็ตาม สายโทรเลขทั้งสองเส้นที่วิ่งตรงสู่สหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องผ่านสถานีทวนสัญญาณในพอร์ธเคอร์โน ใกล้กับแลนด์เอนด์ ซึ่งเป็นส่วนปลายสุดด้านทิศทะวันตกของเกาะบริเตนใหญ่ ณ สถานที่นี้เองที่สัญญาณถูกขยายและเพิ่มกำลังก่อนจะว่างผ่านสายโทรเลขทรานส์แอตแลนติกข้ามมหาสุมทรแอตแลนติก สัญญาณซึ่งถูกส่งผ่านสถานีในพอร์ธเคอร์โนถูกทำสำเนาและส่งให้แก่หน่วยสืบราชการลับของสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะแก่นักถอดรหัสลับและนักวิเคราะห์แห่งห้อง 40 ใน แอดมิแรลตี (Admiralty) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของราชนาวีอังกฤษ> ภายหลังจากที่สายโทรเลขถูกตัด กระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีอุทธรณ์ต่อสหรัฐอเมริกาเพื่อขอใช้สายโทรเลขสำหรับการส่งข้อความทางการทูต ประธานาธิบดีวูดโร์ วิลสัน ตอบรับคำอุทธรณ์ดังกล่าว โดยเชื่อว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและเยอรมนีให้ยั่งยืนต่อไป รวมทั้งช่วยให้ภารกิจทางการทูตระหว่างสองประเทศมีประสิทธิภาพมายิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่เป้าหมายของประธานาธิบดีวิลสันในการเจรจาให้สงครามยุติลงในที่สุด ซึ่งการใช้สายโทรเลข ขั้นแรกเยอรมนีต้องส่งข้อความไปที่สถานทูตสหรัฐอมริกา ณ กรุงเบอร์ลิน จากนั้นข้อความจึงจะถูกถ่ายโอนไปยังเดนมาร์กและสู่สหรัฐอเมริกาโดยผู้ให้บริการโครงข่ายโทรเลขสัญชาติอเมริกัน อย่างไรก็ตาม สหรัฐกำหนดเงื่อนไขไว้หลายข้อ ข้อที่ชัดเจนที่สุดคือห้ามไม่ให้ส่งข้อความที่เป็นรหัสลับและข้อความต้องมีความหมายชัดเจน ทั้งนี้เยอรมนีเชื่อว่าสายโทรเลขของสหรัฐอเมริกามีความปลอดภัย จึงมีการใช้งานที่อยู่นอกเหนือเงื่อนไขข้อห้ามอยู่ด้วย

แน่นอนว่าข้อความในโทรเลขซิมแมร์มันน์ไม่ได้ถูกส่งให้สหรัฐอเมริกาในรูปแบบที่ชัดเจนและตรงไปตรงมา โดยทางเยอรมันได้โน้มน้าวให้เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำกรุงเบอร์ลิน เจมส์ ดับเบิลยู. เจราร์ด ยอมรับโทรเลขดังกล่าวโดยเนื้อความเป็นรหัสซ้อนอยู่ และถูกส่งผ่านสายโทรเลขในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2460

ในวันต่อมา ณ ห้อง 40 ไนเจล เดอ เกรย์ สามารถถอดรหัสข้อความได้บางส่วน เนื่องจากก่อนหน้านี้ห้อง 40 สามารถเก็บกู้เอกสารรหัสลับของเยอรมันมาได้ ซึ่งรวมไปถึงเอกสารลับหลายเลข 13040 ที่เก็บกู้มาจากยุทธการเมโสโปเตเมีย และเอกสารลับทางราชนาวีหมายเลข 0075 ที่เก็บกู้มาได้จากซากเรือเอสเอ็มเอส มากเดอบูร์ก โดยฝ่ายรัสเซียก่อนที่จะส่งต่อมาให้สหราชอาณาจักร

แน่นอนว่าหากนำโทรเลขนี้ไปเผยแพร่จะทำให้สาธารณชนอเมริกันแปรเปลี่ยนทัศนคติไปต่อต้านฝ่ายเยอรมนี และหากส่งมอบโทรเลขให้แก่สหรัฐอเมริกาก็จะยิ่งเป็นการยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวมีมูลความจริง แต่กระนั้นเอง ผู้บังคับบัญชาห้อง 40 วิลเลียม ฮอล์ รู้สึกไม่เต็มใจที่จะเปิดเผยโทรเลขดังกล่าว เพราะเท่ากับเป็นการป่าวประกาศว่าสหราชอาณาจักรสามารถถอดรหัสข้อความของเยอรมันได้แล้ว (ซึ่งอาจทำให้ฝ่ายเยอรมันไหวตัวทันและเปลี่ยนรูปแบบรหัสข้อความลับ) และว่าสหราชอาณาจักรกำลังดักฟังสายส่งโทรเลขของสหรัฐอเมริกาอยู่ วิลเลียม ฮอลล์จึงตัดสินใจรอต่อไปอีกสามสัปดาห์ ช่วงเวลานี้เองที่เดอ เกรย์ และวิลเลียม มอนโกเมอรี ทำการถอดรหัสโทรเลขทั้งฉบับจนเสร็จสิ้น ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เยอรมนีประกาศใช้ยุทธการสู้รบด้วยเรือดำน้ำแบบไม่จำกัดขอบเขตอีกครั้งหนึ่ง จนนำไปสู่การตัดสัมพันธ์ทางการทูตของสหรัฐอเมริกากับเยอรมนีในวันที่ 3 กุมภาพันธ์

โทรเลขซิมแมร์มันน์ที่ได้รับการถอดรหัสและแปลโดยเสร็จสมบูรณ์

ฮอล์ส่งต่อโทรเลขไปยังกระทรวงการต่างประเทศในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ และยังคงเตือนว่าไม่ควรเผยแพร่โทรเลขดังกล่าวออกไป ในขณะเดียวกันนั้นก็กำลังมีการหารือว่าจะปิดบังเรื่องราวครั้งนี้อย่างไร จะอธิบายแก่ฝ่ายสหรัฐ ฯ อย่างไรว่าได้รหัสลับมาโดยไม่เป็นการยอมรับว่าทำการดักฟังสายโทรเลข และจะทำอย่างไรให้ฝ่ายเยอรมันไม่รู้ตัวว่ารหัสลับของตนถูกถอดออกแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น สหราชอาณาจักรเองขังต้องคิดหาทางโน้มน้าวให้ชาวอเมริกันเชื่อได้ว่าโทรเลขดังกล่าวไม่ได้ถูกปลอมแปลงขึ้นมา

ในประเด็นแรก สหราชอาณาจักรแก้ต่างว่าได้ชุดรหัสลับของโทรเลขมาจากสำนักโทรเลขพาณิชย์ของเม็กซิโก เนื่องจากสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. จะต้องส่งโทรเลขผ่านสายส่งพาณิชย์ไปยังเม็กซิโกอีกครั้ง ดังนั้นสำนักโทรเลขพาณิชย์ของเม็กซิโกจึงมีข้อความที่ได้จากส่งในครั้งนี้อยู่ และสายลับของสหราชอาณาจักรในเม็กซิโก นายเอช (Mr. H) ได้ติดสินบนพนักงานในสำนักงานโทรเลขพาณิชย์จนได้สำเนาของข้อความดังกล่าวมา (เซอร์ โทมัส โฮห์เลอร์ เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำเม็กซิโกขณะนั้น อ้างว่าไว้ในอัตชีวประวัติว่าตนคือ นายเอช หรืออย่างก็เกี่ยวข้องกับการดักจับโทรเลขซิมแมร์มันน์) ด้วยข้อแก้ต่างนี้สหราชอาณาจักรจึงสามารถเปิดเผยโทรเลขแก่สหรัฐอเมริกาได้โดยไม่ทำให้ขุ่นข้องใจกัน ส่วนประเด็นที่สอง สหราชอาณาจักรแก้ต่างว่าในการทวนสัญญาณโทรเลข ข้อความถูกเข้าเป็นหัสลับด้วยเอกสารลับหมายเลข 13040 ดังนั้นเมื่อถึงช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ สหราชอาณจักรจึงได้ข้อความที่ถอดรหัสสำเร็จฉบับเต็มและสามารถเผยแพร่โทรเลขโดยไม่ทำให้เยอรมันล่วงรู้ว่าชุดรหัสลับล่าสุดของตนถูกถอดออกแล้ว แม้ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ยังคงมีความเสี่ยงที่เยอรมนีจะตระหนักได้ว่าเอกสารลับหมายเลข 13040 ตกไปอยู่ในมือฝ่ายศัตรูและชุดรหัสลับถูกถอดออกแล้ว แต่เมื่อนำมาพิจารณาหักกลบกับผลผระโยชน์ที่จะได้จากการผลักดันสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมในสงครามครั้งนี้ ก็คุ้มค่าพอที่จะเสี่ยงทำให้เยอรมนีไหวตัวทัน และเมื่อสำเนาของเอกสารลับหมายเลข 13040 ถูกเก็บไว้ในบันทึกข้อมูลของสำนักโทรเลขพาณิชย์สหรัฐ ฯ สหราชอาณาจักรจึงสามารถพิสูจน์ความจริงแท้ของข้อความแก่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ในที่สุด

ด้วยเนื้อเรื่องที่ถูกแต่งขึ้นนี้ สหราชอาณาจักรจึงทำการกล่าวอ้างแก่สาธารณชนว่าสายลับของตนในเม็กซิโกสามารถล้วงเอาชุดข้อความที่ได้รับการถอดรหัสจากโทรเลขเป็นผลสำเร็จ และยังต้องส่งเอกสารลับหมายเลข 13040 ให้แก่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเพื่อที่จะได้ตรวจสอบข้อความที่ได้รับการถอดรหัสในเม็กซิโก เทียบกับชุดข้อความที่ถูกเก็บบันทึกไว้โดยสำนักโทรเลขพาณิชย์ด้วยตนเอง ถึงกระนั้นก็ตามฝ่ายสหรัฐ ฯ ก็ตกลงใจที่จะให้ความร่วมมือในเรื่องปกปิดในครั้งนี้ของฝ่ายสหราชอาณาจักร ด้านกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีกลับเพิกเฉยว่ารหัสลับของตนอาจถูกถอดได้โดยฝ่ายศัตรู และส่งเอคคาดท์ไปตาล่าตัวผู้ทรยศ ณ สถานเอกอัครราชทูตในเม็กซิโกแทน (ฟอน เอคคาดท์ ตอบปฏิเสธข้อครหานี้อย่างฉุนเฉียว จนในที่สุดกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีจึงยอมรับว่าสถานเอกอัครราชทูตไม่มีส่วนรู้เห็นในเรื่องนี้)

การใช้งานของสหราชอาณาจักร

ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ฮอลล์นำโทรเลขแสดงให้แก่เอ็ดเวิร์ด บอลล์ เลขานุการสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำสหราชอาณาจักร ในทีแรก บอลล์รู้สึกกังขาและคิกว่าโทรเลขดังกล่าวเป็นของที่ถูกปลอมแปลงขึ้น แต่เมื่อเขาถูกโน้มนาวให้เชื่อได้ว่าเป็นของจริง บอลล์ก็รู้สึกโกรธเกรี้ยวเป็นอย่างมาก ต่อมาในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ฮอลล์ส่งสำเนาให้แก่เอกอัครราชทูตวอลเตอร์ ไฮนส์ เพจ อย่างไม่เปิดเผย และในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ เอกอัครราชทูตเพจจึงเข้าพบกับรัฐมนตรีการต่างประเทศของสหราชอาณาจักร อาเธอร์ บัลโฟร์ และได้รับข้อความต้นฉบับที่ถูกเข้ารหัส พร้อมด้วยคำแปลรหัสฉบับภาษาเยอรมันและภาษาอังกฤษ จากนั้นเพจจึงรายงานเรื่องนี้โดยตรงต่อประธานาธบดีวิลสัน ซึ่งรวมถึงรายละเอียดที่จะต้องถูกตรวจสอบจากบันทึกของสำนักโทรเลขในสหรัฐอเมริกา ต่อมาประธานาธิบดีวิลสันจึงได้เผยแพร่ข้อความจากโทรเลขดักล่าวแก่สื่อมวลชนในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2460

ผลกระทบในสหรัฐอเมริกา

ในสหรัฐอเมริกาขณะนั้น ทัศนคติโดยรวมของสาธารณชนเป็นไปในทิศทางต่อต้านทั้งเม็กซิโกและเยอรมนี ในขณะที่เม็กซิโกเองก็มีทัศนคติต่อต้านสหรัฐอเมริกา ส่วนชาวเม็กซิโกฝ่ายเสรีนิยมมีทัศนคติต่อต้านฝรั่งเศส เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าในขณะนั้นเองนายพลจอร์จ เจ. เพิร์ชชิง ของสหรัฐอเมริกา ได้ไล่ล่านักปฏิวัติชาวเม็กซิโกอย่างปันโช บียา ผู้ก่อการกำเริบตามแนวชายแกนหลายครั้ง ข่าวเรื่องโทรเลขดังกล่าวยังช่วยปลุกเร้าความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโกให้เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีทัศนคติต่อต้านสหราชอาณาจักรปรากฏอยู่อย่างแจ่มชัดในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มชาวอเมริกันเชื้อสายเยอรมันและชาวอเมริกันเชื้อสายไอริช ในขณะที่ชาวอเมริกันจำนวนมากปรารถนาที่จะหลีกเลี่ยงสงครามในยุโรป เมื่อสาธารณชนรับรู้ข่าวการโจรกรรมข้อความที่ถูกถอดรหัสในเม็กซิโก (ที่สหราชอาณาจักรแต่งขึ้น) เริ่มแรกพวกเขาส่วนมากเชื่อกันว่าเป็นโทรเลขที่ถูกปลอมแปลงขึ้นอย่างรอบคอบของหน่วยราชการลับสหราชอาณาจักร ความเชื่อนี้เองที่ได้รับการสนับสนุนจากนักการทูตเยอรมัน นักการทูตเม็กซิกัน นักพูดชีชวนฝ่ายเยอรมัน และชาวอเมริกันแถบชายฝั่งแปซิฟิก รวมไปถึงหนังสือพิมพ์อเมริกันบางฉบับอย่าง เฮิร์สเพรสเอ็มไพร์ ความเชื่อแบบผิด ๆ นี้เอง ที่ทำให้รัฐบาลกลางของประธานาธิบดีวิลสันตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เนื่องจากหลักฐานที่สหราชอาณาจักรส่งให้สหรัฐอเมริกาในทางลับเป็นเครื่องยืนยันอย่างดีว่าโทรเลขฉบับดังกล่าวไม่ได้ถูกปลอมแปลงขึ้น แต่ก็ไม่สามารถเผยแพร่หลักฐานดังกล่าวแก่สาธารณชนได้ เพราะเท่ากับเป็นการเปิดโปงปฏิบัติการถอดรหัสลับของสหราชอาณาจักรให้ฝ่ายเยอรมันได้รับรู้

อย่างไรก็ตาม อาร์ทูร์ ซิมแมร์มันน์ กลับเป็นผู้คลายข้อสงสัยถึงความจริงแท้ของโทรเลขด้วยตนเอง ครั้งแรกในการแถลงข่าววันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2460 เขากล่าวต่อนักข่าวชาวอเมริกันว่า "ข้าพเจ้าไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามันคือเรื่องจริง" จากนั้นในวันที่ 29 มีนาคม เขากล่าวสุนทรพจน์ที่ยอมรับว่าโทรเลขฉบับนั้นเป็นของจริง ทั้งนี้ซิมแมร์มันน์คาดหวังว่าชาวอเมริกันจะเข้าใจแนวคิดของเยอรมนี ว่าเยอรมนีจะสนับสนุนเงินทุนแก่เม็กซิโกในเฉพาะกรณีที่สหรัฐอเมริกาประกาศเข้าร่วมสงครามเท่านั้น

ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2460 ฝ่ายเยอรมันประกาศใช้การสู้รบด้วยเรือดำน้ำแบบไม่จำกัดขอบเขตต่อเรือทุกลำในมหาสมุทรแอตแลนติกที่ติดธงชาติอเมริกันไม่ว่าจะเป็นเรือโดยสารหรือเรือพาณิชย์ก็ตาม ทำให้ในเดือนนั้นเองมีเรือถูกจมสองลำ บริษัทเดินเรืออเมริกันส่วนมากต่างหวั่นเกรงภัยคุกคามดังกล่าว จึงทอดสมอเรือของตนไว้ตามท่าเรือต่าง ๆ ซึ่งกรณีเองเป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอโดยฝ่ายเยอรมันว่าจะ "ทำการปล่อยเรือดำน้ำสู้รบอันเหี้ยมโหดของตน" นั่นเอง และกรณีนี้เองส่งผลให้สาธารณชนเรียกร้องให้มีการตอบโต้ แต่ประธานาธิบดีวิลสันปฏิเสธที่จะส่งปืนกลและนาวิกโยธินไปประจำการตามเรือพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการเผยแพร่โทรเลขซิมแมร์มันน์ ประธานาธิบดีวิลสันเรียกร้องให้มีการติดอาวุธเรือพาณิชย์ แต่ข้อเรียกร้องดังกล่าวถูกขัดขวางโดยฝ่ายต่อต้านสงครามในวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา

ความพยายามสนับสนุนสงครามครั้งก่อนหน้าของเยอรมัน

เยอรมนีพยายามที่จะจุดชนวนสงครามระหว่างเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกามานานแล้ว ซึ่งสงครามดังกล่าวจะช่วยกันกองกำลังของสหรัฐ ฯ ไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกับสงครามในฝั่งยุโรป ขณะเดียวกันยังจะช่วยชะลอการส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ที่สหรัฐ ฯ สนับสนุนแก่ฝ่ายสัมพันธมิตร เยอรมนียังเข้าไปเกี่ยวพันกับการสนับสนุนอาวุธ เงินทุน และคำแนะนำแก่เม็กซิโกหลากหลายครั้ง เช่นในเหตุการณ์อือพีรันกา (Ypiranga incident) ที่เรือกลไฟสัญชาติเยอรมัน เอสเอส อือพีรันกา ลำเลียงอาวุธสงครามส่งแก่รัฐบาลกลางเม็กซิโก ซึ่งขณะนั้นถูกคว่ำบาตรทางอาวุธจากสหรัฐอเมริกา และบทบาทของที่ปรึกษาชาวเยอรมันในสมรภูมิอัมโบสโนกาเลส พ.ศ. 2461 (Battle of Ambos Nogales) นอกจากนี้ยังมีกรณีที่เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองราชนาวีเยอรมัน ฟรันซ์ ฟอน รินเทเลิน พยายามจุดชนวนสงครามระหว่างเม็กซิโกกับสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2458 ด้วยการสนับสนุนเงินจำนวน 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ แก่วิกโตเรียโน อัวร์ตา และผู้ก่อวินาศกรรมชาวเยอรมัน โลทาร์ วิทซ์เคอ ซึ่งมีถิ่นพำนักอยู่ในเม็กซิโก ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์คลังแสงระเบิดที่อู่ต่อเรือนายวิกโยธิบนเกาะมาเร บริเวณอ่าวซานฟรานซิสโก เดือนมีนาคม พ.ศ. 2460 และอาจรวมไปถึงเหตุระเบิด แบล็กทอม ในนิวเจอร์ซีย์ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2459 ทั้งนี้ความล้มเหลวของกองกำลังสหรัฐอเมริกาในการจับกุมตัวปันโช บียา ในปี พ.ศ. 2459 และความเคลื่อนไหวของประธานาธิบดีการันซาที่นิยมชมชอบเยอรมนี มีส่วนทำให้เยอรมีกล้าที่จะส่งโทรเลขซิมแมร์มันน์ไปยังเม็กซิโก

อย่างไรก็ตามเยอรมนีก็ประสบความสำเร็จอยู่บ้างในการยุยงให้เกิดการเผชิญทางการทหารหน้าระหว่างเม็กซิโกกับสหรัฐอเมริกา เช่น กรณีการเข้ายึดครองเวราครูซของสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2457 โดยคำสั่งของประธานาธิบดีวิลสันเพื่อเป็นการตอบโต้เหตุการณ์อือพีรันกา ส่งผลให้พลทหารเม็กซิโกจำนวน 170 นายและพลเรือนอีกไม่ทราบจำนวนเสียชีวิต แต่สงครามเต็มรูปแบบไม่ได้ขึ้นตามประสงค์ของเยอรมนี เนื่องจากการประชุมสันติภาพน้ำตกไนแอการาซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มประเทศเอบีซีช่วยไกล่เกลี่ยความตึงเครียดในครั้งนี้เอาไว้ และเหตุการณ์ในครั้งนี้เองยังเป็นปัจจัยช่วยดำรงความเป็นกลางของเม็กซิโกในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเอาไว้ เม็กซิโกปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกับสหรัฐอเมริกาในการคว่ำบาตรเยอรมนี และในขณะเดียวกันกลับให้คำมั่นสัญญาอย่างหนักแน่นว่าจะคงไว้ซึ่งกิจการด้านการทูตของเยอรมนี โดยเฉพาะในกรุงเม็กซิโกซิตี คำมั่นสัญญานี้ยืนยาวต่อไปได้อีก 25 ปี และสิ้นสุดลงเมื่อเม็กซิโกประกาศสงครามต่อฝ่ายอักษะในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 หลังจากที่สูญเสียบรรทุกน้ำมันสองลำจากการโจมตีของเรือดำน้ำอูแห่งกองทัพเรือ ครีกซมารีเนอ (Kriegsmarine) และในช่วงปี พ.ศ. 2460 - 2461 ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน ยังได้พิจารณาการรุกรานเวราครูซและทัมปิโกอีกครั้ง เพื่อที่จะได้เข้าควบคุมคอคอดเตฮวนเตเปกและครอบครองบ่อน้ำมันในทัมปิโก ซึ่งประธานาธิบดีเม็กซิโก เวนุสเตียโน การันซา ผู้ซึ่งเข้าดำรงตำแหน่งได้ไม่นาน ข่มขู่ว่าจะทำลายบ่อน้ำมันทิ้งหากนาวิกโยธินสหรัฐ ฯ ขึ้นฝั่งที่นั่น ดังเช่นที่นักประวัติศาสตร์ เลสเตอร์ แลงลีย์ บันทึกไว้ว่า: "การันซามิอาจบรรลุเป้าประสงค์ทางสังคมของการปฏิวัติ แต่เขาก็ช่วยขับไล่พวก กริงโก (Gringo; ชาวต่างชาติ) ให้พ้นจากเม็กซิโกซิตี"

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

เชิงอรรถ

  1. Andrew, p. 42.
  2. Singh.
  3. Tuchman, pp.  63, 73–4
  4. Katz, pp. 328–29.
  5. Katz, p. 364
  6. William Beezley, Michael Meyer (2010) The Oxford History of Mexico, p. 476, Oxford University Press, UK.
  7. 7.0 7.1 Thomas Paterson, J. Garry Clifford, Robert Brigham, Michael Donoghue, Kenneth Hagan (2010) American Foreign Relations, Volume 1: To 1920, p. 265, Cengage Learning, USA.
  8. Thomas Paterson, John Garry Clifford, Kenneth J. Hagan (1999) American Foreign Relations: A History since 1895, p. 51, Houghton Mifflin College Division, USA.
  9. 9.0 9.1 Lee Stacy (2002) Mexico and the United States, Volume 3, p. 869, Marshall Cavendish, USA.
  10. 10.0 10.1 Jürgen Buchenau (2004) Tools of Progress: A German Merchant Family in Mexico City, 1865-present, p. 82, UNM Press, USA.
  11. 11.0 11.1 11.2 Gannon [ต้องการเลขหน้า]
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 12.4 West, pp. 83, 87–92.
  13. Polmar & Noot [ต้องการเลขหน้า]
  14. Link [ต้องการเลขหน้า]
  15. Meyer, p. 76.
  16. Boghardt.
  17. Richard W Leopold, The Growth of American Foreign Policy: A History (1962) pp 330-31
  18. Katz, pp. 328–29.
  19. Katz, pp. 232–40.
  20. Katz, pp. 329–32.
  21. Tucker & Roberts, p. 1606
  22. Katz, pp. 346–47.
  23. Alan McPherson (2013) Encyclopedia of U.S. Military Interventions in Latin America, p. 393, ABC-CLIO, USA.
  24. Michael Small (2009) The Forgotten Peace: Mediation at Niagara Falls, 1914, p. 35, University of Ottawa, Canada.
  25. Ernest Gruening (1968) Mexico and Its Heritage, p. 596, Greenwood Press, U.S.
  26. 26.0 26.1 Drew Philip Halevy (2000) Threats of Intervention: U. S.-Mexican Relations, 1917-1923, p. 41, iUniverse, U.S.
  27. Lorenzo Meyer (1977) Mexico and the United States in the oil controversy, 1917-1942, p. 45, University of Texas Press, U.S.
  28. Stephen Haber, Noel Maurer, Armando Razo (2003) The Politics of Property Rights: Political Instability, Credible Commitments, and Economic Growth in Mexico, 1876-1929, p. 201, Cambridge University Press, UK.
  29. Lorenzo Meyer (1977) Mexico and the United States in the Oil Controversy, 1917-1942, p. 44, University of Texas Press, U.S.
  30. Lester D. Langley (2001) The Banana Wars: United States Intervention in the Caribbean, 1898-1934, p. 108, Rowman & Littlefield Publishers, U.S.

บรรณานุกรม

  • Andrew, Christopher (1996). For The President's Eyes Only. Harper Collins. ISBN 0-00-638071-9.
  • Beesly, Patrick (1982). Room 40: British Naval Intelligence, 1914–1918. New York: Harcourt, Brace, Jovanovich. ISBN 0-15-178634-8.
  • Bernstorff, Count Johann Heinrich (1920). My Three Years in America. New York: Scribner. pp. 310–11.
  • Boghardt, Thomas (2012). The Zimmermann Telegram: Intelligence, Diplomacy, and America's Entry into World War I. excerpt and text search. 319pp.
  • Fenton, Ben (17 ตุลาคม 2005). "Telegram that brought US into Great War is Found Found". The Telegraph. London.
  • Gannon, Paul (2011). Inside Room 40: The Codebreakers of World War I. London: Ian Allen Publishing. ISBN 978-0-7110-3408-2.
  • Hopkirk, Peter (1994). On Secret Service East of Constantinople. Oxford: Oxford University Press. ISBN 0-19-280230-5.
  • Katz, Friedrich (1981). The Secret War in Mexico: Europe, the United States, and the Mexican Revolution. University of Chicago Press. ISBN 0-226-42588-6.
  • Link, Arthur S. (1965). Wilson: Campaigns for Progressivism and Peace: 1916–1917. ISBN 0-598-18049-4.
  • Massie, Robert K. (2007) . Castles of Steel. London: Vantage Books. ISBN 978-0-09-952378-9.
  • Meyer, Michael C. (1966). "The Mexican-German Conspiracy of 1915". The Americas. 23 (1): 76. doi:10.2307/980141.
  • Polmar, Norman & Noot, Jurrien (1991). Submarines of the Russian and Soviet Navies 1718–1990. Annapolis: US Naval Institute Press. ISBN 0-87021-570-1.
  • Pommerin, Reiner (1996). "Reichstagsrede Zimmermanns (Auszug), 30. März 1917". 'Quellen zu den deutsch-amerikanischen Beziehungen. Darmstadt: Wissenschaftliche Buchgesellschaft Vol. 1. pp. 213–16. ISBN 3-534-12472-3.
  • Singh, Simon (8 กันยายน 1999). "Historical Notes: 184 King's Road, Tighnabruaich". The Independent. Independent Print Limited. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 สิงหาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 14 สิงหาคม 2014.
  • Tuchman, Barbara W. (1985). The Zimmermann Telegram. ISBN 0-345-32425-0.
  • Tucker, Spencer & Roberts, Priscilla Mary (2005). World War One. Santa Barbara CA: ABC-CLIO. ISBN 1-85109-420-2.
  • West, Nigel (1990). The Sigint Secrets: The Signals Intelligence War, 1990 to Today-Including the Persecution of Gordon Welchman. New York: Quill. ISBN 0-688-09515-1.

เนื้อหาเพิ่มเติม

  • Bridges, Lamar W. (1969). "Zimmermann telegram: reaction of Southern, Southwestern newspapers". Journalism & Mass Communication Quarterly. 46 (1): 81–86. ISSN 1077-6990.
  • Dugdale, Blanche (1937). Arthur James Balfour. New York: Putnam. Vol. II, pp. 127–129. ASIN B001KV8N98.
  • Hendrick, Burton J. (2003) . The Life and Letters of Walter H. Page. Kessinger Publishing. ISBN 0-7661-7106-X.
  • Kahn, David (1996) . The Codebreakers. New York: Macmillan. ISBN 0-684-83130-9.
  • Winkler, Jonathan Reed (2008). Nexus: Strategic Communications and American Security in World War I. Harvard historical studies, v. 162. Cambridge, MA: Harvard University Press. ISBN 978-0-674-02839-5.

แหล่งข้อมูลอื่น