แหล่งมรดกโลก

ตราสัญลักษณ์

แหล่งมรดกโลก (อังกฤษ: World Heritage Site) คือ พื้นที่หรือภูมิสัญลักษณ์ที่ได้รับคัดเลือกจากยูเนสโก เพราะมีลักษณะสำคัญทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือด้านอื่น และได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายตามสนธิสัญญา สถานที่เหล่านี้ถือว่าสำคัญต่อประโยชน์โดยรวมของมนุษยชาติ

ในปัจจุบัน (กันยายน 2566) มีแหล่งมรดกโลกทั้งหมด 1,199 แหล่ง ใน 168 ประเทศทั่วโลก แบ่งเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม 933 แหล่ง แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ 227 แหล่ง และอีก 39 แหล่งเป็นแบบผสมทั้งสองประเภท อิตาลีเป็นประเทศที่มีจำนวนแหล่งมรดกโลกมากที่สุดคือ 59 แหล่ง รองลงมาคือจีน (57 แหล่ง) เยอรมนีและฝรั่งเศส (52 แหล่ง) และสเปน (50 แหล่ง) แม้ว่ายูเนสโกจะอ้างอิงถึงแหล่งมรดกโลกแต่ละแหล่งด้วยหมายเลข แต่การขึ้นทะเบียนในหลายครั้งก็จะผนวกเอาแหล่งมรดกโลกที่ได้ขึ้นทะเบียนไปแล้วเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งมรดกโลกที่มีพื้นที่มากขึ้น ดังนั้นจึงมีจำนวนแหล่งมรดกโลกเกิน 1,200 แหล่ง แม้ว่าจะมีจำนวนแหล่งมรดกโลกในทะเบียนน้อยกว่าก็ตาม

แหล่งมรดกโลกแต่ละแหล่งเป็นทรัพย์สินของประเทศที่เป็นเจ้าของดินแดนที่แหล่งมรดกโลกนั้นตั้งอยู่ แต่ได้รับการพิจารณาให้เป็นผลประโยชน์ของประชาคมระหว่างประเทศในการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกแหล่งนั้น

ในส่วนของแหล่งมรดกโลกในประเทศไทยนั้น มีแหล่งที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 7 แหล่ง ประกอบด้วยแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม 4 แหล่ง และแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติอีก 3 แหล่ง

สถิติ

แหล่งมรดกโลก
เมมฟิสและสุสานโบราณ ประเทศอียิปต์
กำแพงเมืองจีน ประเทศจีน
ทัชมาฮาล ประเทศอินเดีย
พระอจนะ วัดศรีชุม อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ประเทศไทย
ปราสาทหินนครวัด ประเทศกัมพูชา
พระราชวังชังด็อก ประเทศเกาหลีใต้
ปราสาทฮิเมจิ ประเทศญี่ปุ่น
เทพีเสรีภาพ สหรัฐ
มง-แซ็ง-มีแชล ประเทศฝรั่งเศส
อ่าวหะล็อง ประเทศเวียดนาม
นครเปตรา ประเทศจอร์แดน

ตารางจำนวนแหล่งมรดกโลกแบ่งตามทวีป ณ เดือนกรกฎาคม 2562

ภูมิภาค วัฒนธรรม ธรรมชาติ ผสม รวม % รัฐ
แอฟริกา 53 38 5 96 8.56% 35
รัฐอาหรับ 78 5 3 86 7.67% 18
เอเชียแปซิฟิก 189 67 12 268* 23.91% 36
ยุโรปและอเมริกาเหนือ 453 65 11 529* 47.19% 50
ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน 96 38 8 141* 12.67% 28
รวม 869 213 39 1121 100% 167

อันดับประเทศที่มีแหล่งมรดกโลกมากที่สุด

ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2566

ขั้นตอนการเสนอชื่อสถานที่

ประเทศที่ต้องการเสนอชื่อสถานที่ในประเทศของตนให้ได้รับการพิจารณาให้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก อันดับแรกจะต้องจัดทำบัญชีรายชื่อสถานที่ที่มีความสำคัญทางธรรมชาติและวัฒนธรรมทั้งหมดภายในประเทศของตน บัญชีนี้จะเรียกว่า บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะมีเพียงสถานที่ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีนี้เท่านั้นที่จะมีสิทธิได้รับการเสนอชื่อ ขั้นต่อมา ประเทศนั้น ๆ จะต้องเลือกรายชื่อสถานที่ที่ต้องการเสนอชื่อมาจากบัญชีรายชื่อเบื้องต้น เพื่อจัดทำเป็นแฟ้มข้อมูล (Nomination File) โดยทางศูนย์แหล่งมรดกโลกอาจให้คำแนะนำและช่วยเหลือในการจัดทำแฟ้มข้อมูลนี้

เมื่อถึงขั้นตอนนี้ แฟ้มข้อมูลจะได้รับการตรวจสอบและพิจารณาจากองค์การ 2 แห่ง ได้แก่ สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (International Council on Monuments and Sites : ICOMOS) และศูนย์ระหว่างประเทศว่าด้วยการศึกษาการอนุรักษ์และปฏิสังขรณ์สมบัติทางวัฒนธรรม (The International Centre for the Study of the Preservation and Restoration of the Cultural Property : ICCROM) ในส่วนของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature : IUCN) แล้วทั้งสามองค์การนี้จะยื่นข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการมรดกโลก ทางคณะกรรมการจะมีการประชุมร่วมกันปีละหนึ่งครั้ง เพื่อตัดสินว่าสถานที่ที่มีการเสนอชื่อแห่งใดบ้างที่ควรได้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก หรือทางคณะกรรมการอาจร้องขอให้ประเทศที่เสนอชื่อได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่เพิ่มเติม โดยการพิจารณาว่าจะขึ้นทะเบียนสถานที่แห่งใดจะต้องมีลักษณะตามเกณฑ์มาตรฐานข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ

ข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลก

กระทั่งปี พ.ศ. 2548 มีข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ทั้งหมด 6 ข้อสำหรับแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม และ 4 ข้อสำหรับแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติในการพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลก ดังนี้

หลักเกณฑ์ทางวัฒนธรรม

  • (1) - เป็นตัวแทนในการแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดของมนุษย์
  • (2) - เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวน และภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใด ๆ ของโลกซึ่งทรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม
  • (3) - เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
  • (4) - เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของประเภทของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
  • (5) - เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของวัฒนธรรมมนุษย์ ขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรม วิธีการก่อสร้าง หรือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งเสื่อมสลายได้ง่ายจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมตามกาลเวลา
  • (6) - มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือมีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์

หลักเกณฑ์ทางธรรมชาติ

  • (7) - เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดของการเป็นตัวแทนในวิวัฒนาการสำคัญต่าง ๆ ในอดีตของโลก เช่น ยุคสัตว์เลื้อยคลาน ยุคน้ำแข็ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาความหลากหลายทางธรรมชาติบนพื้นโลก
  • (8) - เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดในการเป็นตัวแทนของขบวนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางธรณีวิทยาหรือวิวัฒนาการทางชีววิทยา และปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่กำลังเกิดอยู่ เช่น ภูเขาไฟ เกษตรกรรมขั้นบันได
  • (9) - เป็นแหล่งที่เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์หายากหรือสวยงามเป็นพิเศษ เช่น แม่น้ำ น้ำตก ภูเขา
  • (10) - เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชที่หายากหรือที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย แต่ยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งรวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความอุดมสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจด้วย

รายชื่อ

อ้างอิง

  1. World Heritage List, UNESCO World Heritage Sites official sites.
  2. Twenty-seven new sites inscribed, UNESCO World Heritage Sites official sites.
  3. Stats
  4. World Heritage List
  5. http://www.dnp.go.th/News/Logo_congress.htm ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรื่อง การประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์ของการประชุมใหญ่สมัชชาการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลก
  6. http://www.thaiwhic.go.th/convention.aspx เก็บถาวร 2010-08-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลก

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น